good night sleep tight เมื่อการนอนทำความสะอาดลำไส้ได้


        คงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า ระหว่างที่นอนหลับสมองของเราจะหลังฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ไม่ใช่แค่สมอง ลำไส้ก็หลั่งฮอร์โมนเช่นกัน

        วันนี้ SAS จะมาชวนคุยเรื่อง ฮอร์โมนโมทิลิน การนอน และอาหารการกิน ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 50 กว่าปีในช่วง พ.ศ. 2515 ฮอร์โมนทิลินก็ได้ถูกค้นพบขึ้นและมีบทบาทอย่างเข้มข้น

        ระหว่างที่เราหลับลำไส้จะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า โมทิลิน (Motilin) เป็นฮอร์โมนหนึ่งซึ่งสำคัญกับระบบย่อยอาหารไม่แพ้ฮอร์โมนอื่นๆ 

        ถามว่าฮอร์โมนโมทิลินสำคัญอย่างไร เล่าแบบง่ายๆ เลยคือเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ช่วยให้ลำไส้บีบตัวอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก อาหารที่ย่อยไม่หมดก็จะเดินทางเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนคด (sigmoid colon) ในขณะที่เรานอนหลับ เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการขับถ่ายในเช้าวันใหม่

        ฮอร์โมนโมทิลินไม่ได้ช่วยเรื่องการบีบตัวอย่างเดียว แต่ยังกระตุ้นการหลั่งของเอนไซม์ย่อยอาหารด้วย เอนไซม์ย่อยอาหารจะช่วยทำความสะอาดลำไส้แบบอัตโนมัติ เมื่อลำไส้สะอาดก็พร้อมสู้ศึกหนักจากอาหารมื้อถัดไป

       กลไกทั้งหมดนี้ รวมถึงฮอร์โมนโมทิลินจะไม่เกิดขึ้นเลย หากเราไม่ได้นอนอย่างมีประสิทธิภาพ การนอนจึงสำคัญไม่แพ้การเลือกรับประทานอาหาร

       และการเลือกอาหารในแต่ละมื้อก็มีส่วนช่วยให้นอนหลับได้สบายกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นงดดื่มชา กาแฟ ซึ่งสำหรับเราเองขอสารภาพเลยว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่หากอดใจได้รับรองว่าการเข้านอนจะแต่ละคืนจะสบายขึ้นเป็นกอง

        หรือการไม่กินอิ่มจนเกินไปในมื้อเย็น และรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายก็ช่วยได้ อย่างเช่น อาหารเมดิเตอร์เรเนียน อาหารมังสวิรัติ ที่เน้นผักผลไม้ เน้นเส้นใยอาหาร ซึ่งจะมีผลต่อความหลากหลายของจุลินทรีย์และเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ดีในลำไส้

        แล้วจุลินทรีย์ดีในลำไส้ที่เพิ่มปริมาณขึ้นนั้นดีอย่างไร แน่นอนที่สุดเลยคือเมื่อมีจุลินทรีย์ดีสมดุลกับจุลินทรีย์ไม่ดี ลำไส้ก็ทำงานได้ดีขึ้น หากลำไส้ทำงานได้ดี ระบบย่อยอาหารก็ไม่มีปัญหา ขับถ่ายได้เป็นปกติ เซลล์ภูมิคุ้มกันรอบๆ ลำไส้ก็พร้อมสู้กับเชื้อโรคและแบคทีเรียต่างๆ

        ช่วงนี้ใครที่กำลังละเลยการนอน แม้จะเป็นคำแนะนำแสนง่ายแต่เชื่อไหมว่าแค่นอนให้เต็มอิ่มและกินอย่างพอเหมาะก็เป็นการดูแลร่างกายที่ล้ำค่าแล้ว และนี่คือเรื่องราวของเทคโนโลยีชีวภาพที่เรานำมาเสนอ

สนับสนุนบทความดีๆ โดย blissly

 

อ้างอิง

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3838679/

https://journals.physiology.org/doi/full/10.1152/ajpendo.00410.2011

หนังสือ สุขภาพจิตดีเริ่มที่ลำไส้ ผู้แต่ง ดร.ไช่อิงเจี๋ย