magFish ปลารักษ์น้ำ ที่อยากให้ลำคลองและเสื้อผ้าสะอาดไปด้วยกัน

เพราะอยากเห็นแหล่งน้ำสองข้างทางสะอาดกว่าที่เป็น กลุ่มเพื่อนสนิทอย่าง คุณวริษา โทณะวณิก (ฝน) คุณสุญญตา ไพร์ค (อ้อม) และคุณอนัตตา โทณะวณิก (อาย) จึงรวมตัวเพื่อก่อตั้ง ‘magFish’ ปลารักษ์น้ำ คือ  ORP magnesium ball สำหรับใช้แทนผงซักฟอก ที่มาในรูปแบบปลาสายพันธุ์ไทย สีสันสดใสสะดุดตา

ทำไมปลาตัวเล็กๆ ตรงหน้าเราจึงสามารถทำความสะอาดผ้าไปพร้อมกับแหล่งน้ำได้ อะไรคือความท้าทายในการนำเสนอวิธีซักผ้าแทนขั้นตอนเดิมที่ผู้คนคุ้นชิน แล้วความปรารถนาเล็กๆ ที่อย่างการอยากเดินผ่านคลองใสแจ๋วสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้นได้อย่างไร

            “เริ่มจากพี่ฝนเนอะ พี่ฝนชอบเดินออกกำลังกายค่ะ เส้นทางริมคลองก็เป็นหนึ่งในเส้นทางที่ใช้เดิน แล้วเวลาเดินริมคลองเมื่อ 3 ปีที่แล้วมันแย่กว่านี้อีกเนอะ ส่งกลิ่นเหม็น ประกอบกับได้เจอผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งจากญี่ปุ่น เพื่อนซื้อมาฝาก เป็น  ORP magnesium เหมือนที่อยู่ใน magFish นี่แหละ แล้วเรามาลองใช้ปรากฏว่ามันเวิร์ค” คุณฝนเริ่มต้นบทสนทนาถึงที่มาของปลารักษ์น้ำตรงหน้า

“เราก็มาคิดว่า ทำเป็นรูปอะไรที่ดูน่ารักดี” คุณอ้อมกล่าวเสริม เพราะเก่งเรื่องเย็บผ้า จึงมีหน้าที่หลักในการออกแบบ จับคู่สี จนถึงลงมือตัดเย็บเป็นปลาตัวเล็กหน้าตาน่ารัก “เราคิดว่าจะสื่อสารกับคนได้อย่างไร มันไม่ใช่แค่การให้คนไม่ปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลอง แต่คือการสร้างจิตสำนึกให้คน เราสื่อสารเป็นรูปปลา ปลาว่ายอยู่ในถังซักผ้า ว่ายลงไปในท่อ ว่ายลงไปในคลอง แล้วก็เป็นทะเล”

การเดินทางของปลารักษ์น้ำ

“จากเล็กๆ ใกล้ตัวเราใช่ไหมคะ ในถังซักผ้าจะมีสารเคมีตกค้าง แต่ถ้าใช้อันนี้ก็ไม่มีสารเคมีที่ตัวเราด้วย ในถังซักผ้าก็จะสะอาดขึ้นด้วย ท่อก็สะอาดขึ้นด้วย น้ำทิ้งลงไปในแม่น้ำ แม่น้ำก็จะสะอาดขึ้นด้วย ภาพมันกว้างขึ้น พยายามให้คนคิดตามว่า เอ๊ะ น้องปลาว่ายไปถึงไหนนะ ให้คนเริ่มคิดถึงสิ่งรอบตัวเราเยอะๆ ด้วยค่ะ” พี่สาวใจดีตรงหน้าเล่าให้เราฟังอย่างกระตือรือร้น

“เนื่องจากว่าเราต้องการให้เหมือนธรรมชาติที่สุด ชนิดปลาของเราก็จะเป็นชนิดปลาที่คนไทยคุ้นเคยค่ะ ปลากระเบน ปลาปักเป้า ปลานีโม่ ปลาจาระเม็ด ปลาทุกตัวจะไม่เหมือนกันเลย” คุณฝนกล่าวเสริม “พันธุ์ปลาจะมีประมาณ 10 ชนิด แต่แต่ละตัว จับคู่สีจะเป็นแค่ชิ้นเดียวในโลกเท่านั้น”


ปลารักสะอาด

‘ORP magnesium’ คือชื่อที่ถูกเน้นย้ำ เมื่อเราถามว่ามีอะไรอยู่ข้างใน magFish สีสันสดใส ซึ่ง ORP magnesium คือแมกนีเซียมที่นำมาผ่านกระบวนการเพื่อให้สามารถทำปฏิกิริยากับน้ำอุณหภูมิห้องได้นั่นเอง “ORP
magnesium เราไม่ได้เป็นคนคิดนะคะ ที่ญี่ปุ่นกับยุโรปมีใช้อยู่แล้ว แต่ใช้ในคนกลุ่มเล็กๆ ค่ะ พอเราเอามาลองใช้แล้วรู้สึกว่าเวิร์ค ใช้ง่าย แค่โยนไปในถังซักผ้าพร้อมกับเสื้อผ้า เราก็เลยอยากเอาสิ่งนี้มาที่บ้านเราด้วย

ที่ขายที่ญี่ปุ่นกับยุโรปจะอยู่ในถุงตาข่ายซักผ้า ซึ่งเป็นโพลีเอสเตอร์ เราก็รู้สึกว่าการซักโพลีเอสเตอร์ยังมีเส้นใยพลาสติกหลุดลงไปในแหล่งน้ำอีก เราเลยคิดที่จะทำเป็นเส้นใยธรรมชาติ แล้วเส้นใยธรรมชาติอะไรเอ่ยที่มีความทนที่สุด ก็ไปตกที่ผ้าลินิน ปลาทุกตัวของเราจึงตัดเย็บด้วยผ้าลินินค่ะ”

“ข้างในจะมีกระเพาะปลา เพื่อปกป้องไม่ให้ตัวเม็ดหลุดออกมาถ้าผ้าขาดค่ะ” คุณอ้อมอธิบายเพิ่มเติม

ว่ายทวนน้ำ

เหมือนทุกอย่างจะราบรื่น แต่ตลอดระยะเวลาที่ปลุกปั้น magFish พวกเธอต่างต้องต่อสู้กับอุปสรรคใหญ่และยากไม่แพ้กัน “ยากที่ต้องต่อสู้กับความคิดของคนค่ะ” คุณฝนย้ำความยากให้เราฟัง ก่อนที่คุณอ้อมจะอธิบายต่อ “เพราะเป็นอะไรที่ใหม่ คนไม่ชินกับการซักผ้าไม่มีฟอง ซักแล้วไม่มีกลิ่นหอมน้ำยาปรับผ้านุ่ม เขาจะคิดว่าไม่มีฟองไม่สะอาด เราต้องอธิบายให้เขาฟังว่าจริงๆ การซักผ้าที่ไม่มีฟองมันก็สะอาดได้ ไม่มีกลิ่นหอมจากน้ำยาปรับผ้านุ่ม แต่เป็นกลิ่นสะอาดในตัวเองค่ะ”

“ปีนี้เราขายมาปีที่ 3 ก็มีคนที่เปิดใจ คนที่เข้ามาเพราะ อุ้ย น่ารักจัง อยากลองใช้ คนที่รักสิ่งแวดล้อม หรือว่าคนที่ผิวเริ่มมีปัญหาในการแพ้แล้ว เพราะว่าซักผ้าด้วยผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่มมันมีสารตกค้างอยู่บนเสื้อผ้า หรือว่าในกลุ่มเด็กทารก เด็กแรกเกิด ทุกคนจะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี อันนี้ก็จะเหมาะ”

รักน้ำ รักงาน

            แม้จะเจออุปสรรค แต่คุณฝนบอกกับเราว่าความสนุกคือการได้ใช้เวลาว่างไปด้วยกัน “เวลาทำ เราทำด้วยกันค่ะ เราทำด้วยกัน 3 คน ทำไปเม้าท์ไป เราไปเลือกผ้ากันเอง ตัดผ้า เย็บผ้า เราคิดว่าเราจะทำไปเรื่อยๆ ค่ะ เราไม่ได้อยากจะสเกลอัพ ทำเท่าที่เรามีกำลัง เรามีฐานลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์ใช้ได้ 1 ปีค่ะ กว่าคนจะกลับมาซื้อก็อีกปีหนึ่งเนอะ แต่ว่าเขาก็จะบอกเพื่อนเขา แนะนำต่อๆ กันไปค่ะ เราจะค่อยๆ ไปเรื่อยๆ ค่ะ คือทำในสิ่งที่เรารักไปเรื่อยๆ ค่อยๆ สื่อสารกับคน”

“เป็นงานที่เราชอบทำ รักที่จะทำ ก็พอมีรายได้เข้ามาโอเค แล้วเราก็อยากให้สังคมที่เราอยู่ดีขึ้นด้วยค่ะ เหมือนกับเรารักตัวเองด้วยเนอะ ทำในสิ่งที่เรารัก เราก็อยากให้ชีวิตเราที่เราจะต้องอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อไป ค่อยๆ พัฒนาไปค่ะ” คุณอ้อมเล่าต่ออย่างหนักแน่น “ทำในสิ่งที่เราทำได้ แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ” คุณฝนย้ำ

“คลองมันเป็นสายหลักของกรุงเทพเลยเนอะ เดิมเราก็ใช้คลองในการสัญจร วัตถุประสงค์เราคืออยากให้คลองมันกลับมาเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นที่สัญจรได้บ้าง ถ้าเราทำทางเดินริมคลอง รถจะติดน้อยลงมากเลย เรามั่นใจว่าถ้าทุกบ้านไม่ปล่อยน้ำเสียลงไปในคลองได้ เดี๋ยวคลองก็กลับมาดีเอง”

นอกจากความรักที่อยากจะทำ ลูกค้า - คืออีกเหตุผลที่ทำให้ทั้งสามไม่ยอมล้มเลิก “ลูกค้าอินบ็อกซ์มาบอกว่า ขอบคุณที่ทำสิ่งดีๆ ทำต่อไปนะ อย่าเลิกทำนะ เราอยู่ได้ด้วยอะไรแบบนี้ มีความสุข และเป็น quality time ของเราด้วย ได้อยู่กับเพื่อน กับน้อง”

คุณอ้อมยังบอกอีกว่า magFish ถูกออกแบบมาอย่างใส่ใจในทุกขั้นตอน “เราคิดทุกสเต็ปว่าจะทำอย่างไรให้ลดขยะได้ด้วย เพราะว่าผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่มก็กลายเป็นถุง เป็นขยะต่อปีเยอะมาก เราใช้กระดาษ เวลาส่งให้ลูกค้าเรามีแค่นี้พยายามจะลดขยะต่อปีค่ะ”

“เหมือนกับเงินเป็นกำไรที่เราได้จากตรงนี้ เราเป็นคนตัวเล็กๆ ที่พยายามทำ แต่จริงๆ การทำทุกอย่างเราก็ทำเพื่อตัวเองนะคะ พี่ก็อยากมีคลองดีๆ เดินแล้วเหมือนไต้หวัน” คุณฝนเสริม “ทำให้ตัวเองได้มีสังคมดีๆ อยู่ ได้อนาคตดีๆ ให้หลานเรา” คุณอ้อมเล่าต่อ

โต้คลื่นลูกใหญ่

แม้ความสุขจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่ได้ทำ แต่ปัญหาก็ตามมาเช่นกัน “มีนักเคมีเข้ามาด่าว่าไม่จริง แมกนีเซียมไม่ทำปฏิกิริยากับน้ำ แต่จริงๆ แล้วเราไม่ใช่แมกนีเซียม เป็น ORP magnesium คือแมกนีเซียมที่ผ่านกระบวนการ พี่ก็ร้องไห้ค่ะ”

ในช่วงเวลาที่อยากลำบาก ทั้งคู่เล่าต่อว่าลูกค้ายังคงเป็นกำลังใจสำคัญ “จะมีคนที่เป็นลูกค้าเข้าไปบอกว่า ใช้ได้ดีนะคะ ผ้าไม่มีกลิ่นอับ แล้วก็มีคนเข้ามาบอกว่า ทำต่อไปเถอะ ใช้ดี ชอบมาก เราก็ เอ้อ ทำต่อ” คุณอ้อมเล่า

“ต้องเป็นคนที่เขาเปิดใจ ยิ่งช่วงแรกต้องเปิดใจมากๆ เปิดใจแล้วก็รักสิ่งแวดล้อม ถึงยอมลอง แต่จริงๆ ก็จะมีกลุ่มลูกค้าที่เขาเคยใช้แล้วจากญี่ปุ่น ใช้แล้วดี เขาก็จะบอกต่อ ตอนแรกมีคนใหม่ๆ เท่านั้นมาลอง แล้วเราก็ต้องอธิบายทุกคนเหมือนเดิม แต่ตอนหลังมานี้ ลูกค้าเดิมเขาจะไปช่วยโฆษณาให้เรา แล้วก็บอกคนโน้นคนนี้ว่าดี”

ไม่ใช่แค่รับอย่างเดียว แต่ magFish ยังทำหน้าที่แบ่งปันด้วย “เราจะมีโปรเจคพิเศษบ้าง อย่างตอนนั้น จำมาเรียมได้ไหม ที่เป็นปลาพะยูน เราก็เย็บขึ้นมาเป็นตัวใหม่เลย เป็นพะยูน ทำจำนวนจำกัด แล้วนำเงิน 400 บาทต่อตัว มอบให้กับกองทุนช่วยชีวิตสัตว์น้ำ เราเปิดรับทุกหน่วยงานที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับเรา”



magFish ปลารักษ์น้ำ

“อยากให้ลองเปิดใจ” คุณฝนตอบด้วยรอยยิ้ม เมื่อเราถามถึงสิ่งที่ magFish อยากบอก นอกจากสะอาด ปลอดสารเคมีแล้ว คุณอ้อมยังเล่าอีกว่าปลาตัวนี้ช่วยประหยัดเงินไม่น้อยเลย “เราลองก่อนจะขาย ถ้าเทียบแล้ว เราคำนวณว่าปีหนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการซื้อผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่มแพงกว่าซื้อปลาตัวหนึ่ง ค่าไฟก็ลดลงเพราะไม่ต้องล้างฟองออก ลดวงจรการใช้เครื่องซักผ้า ชั่วโมงครึ่งเหลือ 45 นาที ประหยัดไฟ ประหยัดน้ำ ลดขยะบรรจุภัณฑ์ ไม่มีสารเคมีตกค้างอยู่บนเสื้อผ้าเรา

ปกติพี่เป็นคนติดกลิ่นมากเลย พี่ใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มเยอะมาก แขวนผ้านี่ได้กลิ่นมาแต่ไกล กว่าพี่จะทดลองได้ พี่ก็เลยเข้าใจว่ากว่าลูกค้าจะทดลองได้ก็ยาก กว่าจะเปิดใจ เรามาดมดู มันเป็นกลิ่นสะอาด กลิ่นเหมือนผ้าตากแดด หลังจากนั้นเราก็ค่อยๆ ชิน เปิดใจและลอง แต่ก็ต้องใช้เวลา ค่อยๆ ไป ต้องลองดูค่ะ”

บทสนทนาจบลง พร้อมกับปลาสีสวยในมือที่เราหมายมั่นว่าจะลองเปิดใจให้เข้ามาแหวกว่ายในเครื่องซักผ้าของตัวเองเป็นครั้งแรก ทั้งคู่ยิ้มอย่างยินดี และบอกกับเราด้วยความเป็นกันเอง

“ขอบคุณนะคะที่ช่วยกันดูแลแหล่งน้ำ”