มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคที่อาหารดีช่วยได้

        กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับเธอ

        แต่อาจอยู่กับคนที่เรารักไม่ได้นานหากอาการป่วยมาเยือน ในแคนาดามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการเสียชีวิต อาหารเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการลดความเสี่ยงของโรค

        องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำนิยามไว้ว่า เนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อลูกวัว เนื้อหมู เนื้อแกะและแพะล้วนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั้งสิ้น เราได้อ่านผลกการศึกษาชิ้นหนึ่งบอกว่าสาเหตุมะเร็งลำไส้ใหญ่ 17 เปอร์เซ็นต์ของคนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนืออิตาลีมาจากการบริโภคเนื้อแดง นอกจากเนื้อแดงแล้ว แป้งขัดสีและไข่ ก็เพิ่มความเสี่ยงสูงเป็น 2 เท่า ชวนให้เราคิดต่อว่าทำไมเนื้อแดงถึงทำให้เกิดมะเร็ง เบื้องหลังของต้นเหตุมาจากแม่สื่อที่คอยเชื่อมความสัมพันระหว่างเนื้อแดงกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ เขาคนนี้มีชื่อเสียงเรียงนามว่าเฮเทอโรไซคลิกแอโรแมติกเอมีน (heterocyclic amines) ภาษาบ้านๆ คือสารก่อมะเร็ง ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเรานำเนื้อสัตว์มาปรุง เช่น ปิ้ง ย่าง โดยเฉพาะการปรุงในอุณหภูมิสูงๆ

        คนที่กินเนื้อแดงย่างจนสุกเกรียมสีน้ำตาลเข้มจึงมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนที่นานๆ กินที

Photo by Daria Shevtsova from Pexels

        องค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง บอกว่าทุกๆ 50 กรัมของเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ถึง 18 เปอร์เซ็นต์ มาเทียบตัวเลขกันอีกสักหน่อย จากผลการศึกษาจะเห็นว่าหากเรากินเนื้อแดง 100 กรัมต่อวันเท่ากับเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ 12 เปอร์เซ็นต์

        การศึกษาในอาร์เจนตินายังบอกกับเราว่าเนื้อสัตว์แปรรูปและเนื้อแดงเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ 33 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย

        เพราะสถาบันมะเร็งแห่งชาติแย้งว่าเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ข้อแย้งนี้อาจทำให้คนรักเนื้อสัตว์หลายคนยิ้มออก แม้จะยังไม่ได้บทสรุปชัดเจนแต่ที่เรามั่นใจคือหมูปิ้งเกรียมๆ ล้วนเสิร์ฟพร้อมกับสารก่อมะเร็งแบบซื้อ 1 แถม 1 อย่างแน่นอน

Photo by Mike from Pexels

        นักวิจัยบางส่วนแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับใยอาหารหรือที่เราเรียกอย่างคุ้นชินว่าไฟเบอร์ไว้อย่างน่าสนใจ ใยอาหารเหล่านี้เป็นสารอาหารที่มีแนวโน้มลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ใยอาหารจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ หนึ่งคือเส้นใยที่ละลายน้ำได้ มีอยู่ในผักผลไม้ เส้นใยกลุ่มนี้ช่วยลดการดูซึมน้ำตาลและไขมันในทางเดินอาหาร อีกแบบหนึ่งคือเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำ มีอยู่มากในธัญพืช ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ช่วยให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้นโดยเฉพาะระบบขับถ่าย เมื่อเร็วๆ นี้ เราเพิ่งได้รู้ว่าวิถีชีวิตของผู้หญิงในสวีเดนส่วนใหญ่กินผักผลไม้น้อย แต่กินธัญพืชเป็นจำนวนมาก นักวิจัยปักหลักศึกษามื้ออาหารของสาวๆ ในสวีเดนแล้วพบว่าผักผลไม้ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนธัญพืชไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยง

Photo by Tomasz Filipek from Pexels

        ถึงอย่างนั้นผนังของพืชอย่างรำข้าวสาลีก็สามารถดูดซับสารก่อมะเร็งได้ และจากการเฝ้าสังเกตผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ 286 รายพบว่าใยอาหารในผักมีประสิทธิภาพมากกว่าในผลไม้และเมล็ดพืช สำหรับคนที่ร่างกายมีใยอาหารต่ำหากเพิ่มไฟเบอร์ในอาหารเป็น 2 เท่า จะมีเปอร์เซ็นต์ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เกือบครึ่ง ทำให้เรานึกถึงแคมเปญเชิญชวนให้กินผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง นับว่าเป็นการดูแลสุขภาพผ่านการกินที่ไม่ยุ่งยากเลย แม้ว่าปัจจุบันยังมีการโต้แย้งว่าจริงๆ แล้วใยอาหารช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่จริงไหม แต่ไม่ว่าจะป้องกันได้หรือไม่ ไฟเบอร์ก็ยังคงเป็นหนึ่งในสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

        ข่าวดีคือไม่ใช่ว่าจะทุกอย่างจะชี้ชัดไม่ได้ เพราะมีการศึกษาเรื่องสารอาหารที่ยืนยันได้ชัดเจนอยู่เช่นกัน นักวิจัยพบว่าผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ได้รับการเสริมกรดโฟลิคต่างมีเซลล์มะเร็งลดลง หากเราเดินทางไปยังหมู่เกาะแฟโรทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกจะเห็นว่าผู้คนที่นั่นกินอาหารที่มีไขมันสูงและกินผักน้อยแต่พวกเขามีปลาและแคลเซียมอยู่ในมื้ออาหารเสมอ อีกทั้งยังได้รับวิตามินดีสูง ปรากฏว่าประชากรที่นั่นมีอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำที่สุดในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือและอเมริกาเหนือ นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้นักวิจัยและเราเองก็รู้สึกทึ่งเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่คือผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ได้รับแสงแดดน้อยจะมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่า

Photo by Ben Libby from Pexels

        ถึงแม้ว่าผลวิจัยด้านอาหารกับมะเร็งลำไส้ใหญ่จะยืนยันได้ไม่เต็มร้อย แต่ผลไม้ ผักและไฟเบอร์ก็ยังเป็นกุญแจสำคัญสำหรับอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงอาหารเสริมกรดโฟลิค เนื้อปลา แคลเซียมและวิตามินดี ผลิตภัณฑ์จากนม เช่นโยเกิร์ต ปลาแซลมอนกระป๋อง ปลาทูน่ากระป๋อง ก็มีแนวโน้มลดความเสี่ยงเช่นกัน ยังมีการทดลองในหนูที่ทำให้เรารู้ว่ามันฝรั่งสีม่วงสามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ อาจเป็นเพราะผักรากเหล่านี้มีสารประกอบที่ช่วยลดระดับของโปรตีนซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ทำให้เกิดความเสี่ยง นอกจากนี้อาหารสไตล์เมดิเนียนก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

        หลังจากได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำให้เราคิดต่อว่าแล้วมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง ข้อสรุปที่เราได้คือ 6 ปัจจัยอย่างความอ้วน การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สูบบุหรี่ กินเนื้อแดง มีปริมาณกรดโฟลิคในร่างกายต่ำ ไม่ยอมออกกำลังกาย ล้วนเป็นสิ่งที่เพิ่มความเสี่ยงทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่เสี่ยงป่วย แต่ยังเสี่ยงที่อาจต้องจากลาคนที่รักก่อนเวลาอันควรอีกด้วย

อ้างอิง
www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2231486/
www.medicalnewstoday.com/articles/321171#Prevention:-What-to-eat
www.webmd.com/colorectal-cancer/ss/slideshow-foods-prevent