ตลาดสุขใจ พื้นที่ปลอดสารจากแนวคิดสังคมอินทรีย์เพื่อเกษตรกรและผู้คน

        จากสถานที่จอดรถทัวร์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เริ่มต้นด้วยหลังคามุงจากอย่างง่ายจนกลายมาเป็นตลาดสุขใจ เครือข่ายสังคมเกษตรอินทรีย์เพื่อเกษตรกรผู้ทำเกษตรแบบปลอดสารเคมีและผู้ที่รักในวิถีชีวิตแบบออร์แกนิค โดยคุณโอ-อรุษ นวราช ผู้ริเริ่มแนวคิดและก่อตั้งตลาดสุขใจ

ตลาดสุขใจ พื้นที่ปลอดสารจากแนวคิดสังคมอินทรีย์เพื่อเกษตรกรและผู้คน-sas seek

        พื้นที่กว้างขวางในสวนสามพราน จังหวัดนครปฐมแห่งนี้คือจุดกำเนิดของตลาดสุขใจ เริ่มจากที่สวนสามพรานทำโครงการซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แบบอินทรีย์ในจังหวัดเพื่อนำมาใช้ในกิจการ คุณโอจึงคิดต่อว่าหากเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลผลิตมาวางขายโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางคงจะดีไม่น้อย

        เราอาจบอกได้ว่าตลาดสุขใจเป็นตลาดอินทรีย์แบบจริงจัง เพราะเกษตรกรที่นำผลผลิตมาจำหน่ายจะต้องผ่านการรับรองเกษตรอินทรีย์ที่เรียกว่า PGS โดยมีการรวมกลุ่มและตรวจสอบอย่างเข้มข้น ที่ตลาดสุขใจแห่งนี้ผู้บริโภคและเกษตรกรพ่อค้าแม่ค้ายังร่วมมือกันหยุดใช้ถุงและหลอดพลาสติก นำวัตถุดิบธรรมชาติมาใช้ทดแทน เช่น เชือกกล้วย ใบตอง ใบบัว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากพลังของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

เริ่มต้นที่หลังคามุงจาก

        บรรยากาศในตลาดสุขใจ ขนัดไปด้วยต้นไม้สีเขียวหลากเฉด เติมความร่มรื่นให้เต็มทั่วทั้งบริเวณ แม้วันนี้จะมีแดดจัด แต่พื้นที่ทั้งในและรอบตลาดกลับให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง “ที่นี่ต่างจากที่อื่นคือมีการส่งเสริมแล้วมีตลาดให้จริง” พี่อุดมจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ร่มเย็น ราชบุรี หนึ่งในคณะกรรมการดูแลตลาดเล่าให้เราฟังอย่างเป็นมิตร อันที่จริงแนวคิดตลาดอินทรีย์สำหรับเกษตรกรและผู้บริโภคอาจเป็นสิ่งที่เราเคยได้ยินกันมาบ้าง แต่ที่ตลาดสุขใจ ซึ่งเกิดจากสามพรานโมเดลแห่งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวคิด แต่สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรรวมถึงสร้างชุมชนอินทรีย์ที่จับต้องได้จริง

        พื้นที่ภายตลาดสุขใจมีลักษณะคล้ายลานโล่งแต่มีหลังคาสำหรับกันแดดกันฝน พี่อุดมเล่าว่าตลอด 4 ปีที่เข้าร่วมกับตลาดสุขใจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย เริ่มจากช่วงแรกเป็นหลังคามุงจาก ขยับขยายเป็นเต็นท์โต๊ะจีน ก่อนกลายมาเป็นตลาดแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน “เราแจกถุงมือ แจกหน้ากากอนามัย เกษตรกรพ่อค้าแม่ค้าใส่หน้ากากอนามัยทุกคน” พี่อุดมเล่าถึงมาตรการรองรับในช่วงโควิด-19 ของตลาดสุขใจที่จัดการได้อย่างมืออาชีพไม่แพ้ใคร และหากไม่ได้นำถุงผ้ามา ที่นี่ก็มีตะกร้าสานเตรียมไว้ให้ลูกค้าได้หยิบยืมใช้

เกษตรอินทรีย์บนพื้นฐานของข้อมูล

        ที่ตลาดสุขใจเต็มไปด้วยสินค้าเกษตรอินทรีย์หลากหลายทั้งผักสดผลไม้ หมู ไก่ ไข่ นมแพะ ตั้งเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ ไม่ใช่แค่ได้ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ปลอดสารกลับบ้าน เกษตรกรพ่อค้าแม่ค้ายังมีคำแนะนำและเทคนิคในการเลือกซื้อให้กับเรา เพราะเกษตรกรทำเองปลูกเองจึงรู้จักสินค้าเป็นอย่างดี “พ่อค้าแม่ค้าจะอธิบาย พูดความจริง ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าผลิตมาจากไหน” จริงอย่างที่พี่อุดมบอกกับเรา เพราะเพียงเดินเข้าไปพูดคุย เกษตรกรพ่อค้าแม่ค้าที่นี่ก็พร้อมใจกันเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเลยทีเดียว

        “ทำไมผักสวยจัง ลูกค้าถามบ่อย” นี่คือสิ่งที่เกษตรกรเจ้าของผักสลัดเขียวสดซึ่งเป็นสินค้ายอดนิยมของตลาดบอกกับเรา “ทุกคนจะเข้าใจว่าผักอินทรีย์ที่สวยไม่ใช่ผักอินทรีย์ จะต้องมีรู มีหนอน จะต้องไม่สวย จริงๆ แล้วผักอินทรีย์สวยได้ไหม สวยได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับเทคนิค ระบบการปลูกและการดูแล ปลูกไม่ยากแต่ดูแลรักษายากกว่า” เกษตรกรเล่าให้เราฟังอย่างตั้งใจ “คำว่าเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่แค่เราปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี แต่เรายังมีการป้องกันการปนเปื้อนอีกด้วยค่ะ ไม่ได้จบแค่วิธีการปลูก ตั้งแต่ตัดจนนำมาขายทุกขั้นตอนจะต้องป้องกันการปนเปื้อนหมด ตัดจากแปลงแล้วก็ห้ามล้างน้ำประปาค่ะ”

        อาจฟังดูยุ่งยากกว่าจะได้ผลผลิตในแต่ละครั้ง แต่คำพูดจากผู้หญิงตัวเล็กๆ ผู้ดูแลแปลงผักกว้างใหญ่ทำให้เราเห็นว่าหากมีใจรัก ก็สามารถลงมือทำทุกอย่างให้ออกมาดีได้ “ถ้าเราเข้าใจระบบการทำงาน เราก็จะทำเป็นปกติโดยที่ไม่ได้ยุ่งยากอะไรค่ะ เป็นการพิสูจน์ตัวเราเอง” เกษตรกรเจ้าของแปลงผักยังย้ำอีกว่า เกษตรยุคใหม่ควรเป็นเกษตรอินทรีย์บนพื้นฐานของข้อมูล

อาหารอินทรีย์พอดีคำ

        ถัดจากโซนวัตถุดิบสด กลิ่นหอมกรุ่นของอาหารหลากหลายเมนูเริ่มกวักมือเรียกเราเข้าไปหา ตรงนี้เป็นโซนอาหารปรุงเสร็จพร้อมรับประทาน ที่ใช้วัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรพ่อค้าแม่ค้าในตลาด “เป็นสินค้าแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบอินทรีย์ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เมื่อก่อนเราไม่ได้เน้น ขายยังไงก็ได้ อย่างก๋วยเตี๋ยว ใช้เครื่องปรุงอะไรก็ได้เต็มที่ไป แต่ว่าไหนๆ ก็ทำเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดอยู่แล้ว ต่อมาของแปรรูปก็ใช้เป็นอินทรีย์ด้วยเลย”

        เมนูที่ดึงความสนใจของเราเป็นอันดับแรกคือข้าวยำ แม่ค้าบอกกับเราว่าหมูที่ใช้เป็นวัตถุดิบจากกลุ่มปศุสัตว์ของที่นี่ หากฤดูกาลไหนขาดวัตถุดิบ พ่อค้าแม่ค้าก็สามารถปรับเมนูตามความเหมาะสม ทำให้เราได้รับประทานอาหารตามฤดูกาลอีกด้วย กิมจิต้นอ่อนผักบุ้งของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ร่วมใจ ก็คือหนึ่งในเมนูที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนเช่นกัน “ต้นอ่อนผักบุ้งปกติจะมีความหวานนิดๆ ไม่ขม ไม่เหม็นเขียว น่าจะแทนผักกาดได้” เกษตรกรผู้ปลูกต้นอ่อนผักบุ้งเล่าว่าจากเดิมที่ปลูกต้นอ่อนผักบุ้งเพียงอย่างเดียวและเจอกับกับปัญหาผักเน่าเร็ว ก็เริ่มทดลองเพาะเชื้อโปรไบโอติกส์เพื่อนำมาทำกิมจิ จากนั้นจึงส่งตรวจกับสถาบันพัฒนาอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วยตัวเอง จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์กิมจิต้นอ่อนผักบุ้งที่ไม่เหมือนใคร

        “ที่บ้านทำกินเองอยู่แล้ว ไม่ได้ซื้อน้ำปลากิน” เกษตรกรกลุ่มเกษตรอินทรีย์หินมูล บอกกับเราเมื่อถามถึงที่มาของน้ำปลาสีน้ำตาลอ่อนใส ที่ไม่มีการเติมแต่งสีหรือกลิ่น ใช้เพียงแค่ปลา เกลือและน้ำตาลออร์แกนิคจากเพื่อนเกษตรกรในตลาดสุขใจเท่านั้น อาจพูดได้ว่าผลิตภัณฑ์ในตลาดสุขใจล้วนเกิดขึ้นจากใจรัก ความทุ่มเท และวิถีชีวิตของเกษตรกรก่อนส่งต่อเป็นสินค้าคุณภาพสู่ผู้บริโภค ความน่ารักและเป็นมิตรกับธรรมชาติของตลาดสุขใจอีกอย่างคือ หลังจากที่เราเลือกเมนูเรียบร้อย แม่ค้าจะใช้กระทงใบตองเป็นภาชนะแทนที่พลาสติกหรือกล่องโฟม

วิถีอินทรีย์ที่สุขใจ

        นอกจากผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์ที่สดและอร่อย ในตลาดสุขใจยังมีงานฝีมือจากเกษตรกรวางจำหน่ายด้วย ไม่ว่าจะเป็นของเล่นและเสื้อผ้า โดยเสื้อผ้าที่วางจำหน่ายในตลาดสุขใจจะใช้สีย้อมจากธรรมชาติ ของเล่นต่างๆ ก็ทำมาจากไม้ธรรมชาติจึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัยสำหรับลูกหลาน ถัดจากตลาดสุขใจเราจะเจอกับ ปฐม ออร์แกนิก เป็นคาเฟ่หน้าตาเรียบง่ายที่แฝงตัวอยู่กับต้นไม้และลานหญ้าอย่างเนียนสนิท เราจะได้พักใจ จิบกาแฟมะพร้าว กาแฟกะทิสด เมนูแนะนำที่ทั้งอร่อยและมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือกิจกรรมเวิร์คช็อป เปิดพื้นที่ให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญตัวจริง “เมื่อก่อนเราทำอยู่ในโรงงานก็จะอยู่แค่ที่โรงงาน เราออกมาข้างนอก เพื่อมาแชร์ประสบการณ์ให้กับลูกค้า” พี่ๆ ผู้ดูแลเวิร์คช็อปยังบอกกับเราอีกว่าที่นี่จะแบ่งเป็น เส้นทางกล้วย เส้นทางข้าว และเส้นทางสมุนไพร โดยยึดจากวัตถุดิบเป็นหลัก ข้าวที่นำมาใช้ทำกิจกรรมก็เป็นข้าวจากชาวนาฝั่งตรงข้าม นอกจากจะได้เพลิดเพลินกับการลองทำสครับผิวจากข้าว น้ำส้มสายชูจากกล้วย ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ น้ำมันหอมจากสมุนไพรที่ปลูกกันเองและอีกหลายกิจกรรมที่น่าสนใจแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนแล้วยังสามารถนำมาต่อยอดเป็นอาชีพได้อีกด้วยเพราะพี่ๆ ที่นี่ไม่หวงความรู้ และยังให้คำแนะนำอย่างจริงใจ

        เมื่อเราเข้าใจเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรเป็นอย่างดี เช่น การใช้ปุ๋ยออร์แกนิคจากเทคโนโลยีชีวภาพ เราก็จะซื้ออย่างเข้าใจ เกิดการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ไปด้วยกันระหว่างเกษตรกรผู้ประกอบการและผู้บริโภค เกิดการเชื่อมโยงกับแหล่งผลิต เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของสังคมอินทรีย์ รอให้ผู้คนได้ไปสัมผัสประสบการณ์ความสุขคู่ธรรมชาติตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ตลาดสุขใจ

ตลาดสุขใจ ตั้งอยู่ที่สวนสามพราน ริมแม่น้ำท่าจีน อ.สามพราน จ.นครปฐม พร้อมเปิดแผงต้อนรับทุกท่านที่มาเลือกจับจ่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ได้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ดูรายละเอียดหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร 034-322588-93 และ 09-8709-8285 Facebook @SookjaiMarket 

วันที่เปิดทำการ เสาร์-อาทิตย์

เวลาเปิด-ปิด 9.00-16.00 น.