Move To Heaven ภาวะหัวใจล้มเหลวกับการจากลาที่ไม่ทันตั้งตัว


*
คำเตือน เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์

           ถ้าวันนั้นพ่อไม่หัวใจวายหรือรถพยาบาลมาทันเวลา ชีวิตของฮันกือรูจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไหม

            ฉากภาษามือระหว่างพ่อและกือรูจากซีรีส์ Move To Heaven ยังฉายชัดในใจของเรา อาจเพราะประโยค “พ่ออยู่เคียงข้างกือรูเสมอ” ที่มาย้ำภาพภาวะหัวใจวายกะทันหันของผู้เป็นพ่อให้ชัดเจนขึ้น

            จากเกาหลีใต้ตีตั๋วกลับมาแดนสยาม เราเจอชุดข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขที่น่าสนใจคือโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย มากขนาดที่ว่าเฉลี่ยแล้วมีคนเสียชีวิตเพราะโรคหัวใจและหลอดเลือดชั่วโมงละ 2 คนเป็นอย่างน้อย

            วันนี้ SAS จะมาชวนคุยเรื่องภาวะหัวใจล้มเหลวกับการจากลาที่ไม่ทันตั้งตัว

หัวใจวอดวาย

            ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยขยายความสำคัญของสุขภาพให้เราเห็นว่า ถ้าป่วยก็จะทำสิ่งที่อยากทำไม่ได้

            Move To Heaven ดำเนินเรื่องโดยตัวละครหลักที่ประกอบธุรกิจทางจิตวิญญาณ คืออาชีพทำความสะอาดที่พักอาศัยของผู้ล่วงลับ ซึ่งไม่ใช่เพียงทำความสะอาดห้องหรือบ้าน แต่พวกเขายังเป็นนักทำความสะอาดแผลใจด้วย

            ตัดภาพกลับมาที่ ภาวะหัวใจล้มเหลว มักถูกเรียกแบบบ้านๆ ว่า หัวใจวาย คือ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ บัญญัติศัพท์ภาษาไทยขึ้นมาใช้จากคำว่า heart failure ก่อนจะมีคำว่าหัวใจวาย เราเคยเกือบได้ใช้คำว่าหัวใจวอด แต่เพราะมีคนไม่เห็นด้วยจึงเปลี่ยนเป็นคำว่าหัวใจวายแทน คล้ายกับตลาดวายคือสามารถกลับมาใหม่ได้

ลำไส้แข็งแรง – หัวใจแข็งแรง

            ไม่ใช่แค่ในไทย ยังมีสถิติที่บอกว่าชาวอเมริกันก็ถูกภาวะหัวใจวายโจมตีทุก 40 วินาทีเช่นกัน นับเป็นตัวเลขที่ทำให้เราตกใจไม่น้อย

            แต่ปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางแก้เมื่อมนุษย์ไม่ยอมแพ้ต่อความเจ็บป่วย ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Guelph แลกเปลี่ยนผลการทดลองไว้ว่า ประชากรจุลินทรีย์ในลำไส้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อหัวใจของหนูทดลอง

            ลำไส้แข็งแรง – หัวใจแข็งแรง

            ร่างกายคนเราคือสิ่งที่จุลินทรีย์เรียกว่า ‘บ้าน’ จุลินทรีย์นับล้านล้านตัวอาศัยอยู่ในร่างกายและคอยดูแลปกป้องบ้านของพวกเขาซึ่งก็คือร่างกายของเรานั่นเอง

            เราช่วยดันหลังเป็นแบ็คอัพให้จุลินทรีย์ในร่างกายได้ด้วยการใส่ใจอาหารและช่วงเวลากินง่ายๆ อย่างการกินโยเกิร์ตที่มีโปรไบโอติกเป็นประจำ เพราะทำให้ลำไส้แข็งแรงขึ้น ช่วงเวลาในการกินอาหารหลักก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรกินอาหารในช่วงกลางวันจะดีที่สุด

โปรไบโอติก พรีไบโอติก

            นอกจากโปรไบโอติก อาหารที่มีเส้นใยสูงก็จำเป็นกับร่างกายเช่นกัน ซึ่งเส้นใยที่ร่างกายย่อยไม่ได้ส่วนหนึ่ง จะกลายเป็นอาหารของจุลินทรีย์ในลำไส้ หรือชื่อที่คุ้นหูว่า พรีไบโอติก

            จุลินทรีย์ดีโปรไบโอติกที่ได้เส้นใยพรีไบโอติกเป็นอาหาร จะตอบแทนน้ำใจของเราด้วยการผลิตกรดไขมันสายสั้นที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

ยา – โปรไบโอติก

            “วันหนึ่งเราอาจมียาเม็ดที่ทำจากโปรไบโอติกไว้กินหลังหัวใจวายโดยเฉพาะ” บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งจาก CBC ของศาสตราจารย์ทามิ มาร์ติโน (Tami Martino) ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ ซึ่งหากทำได้จริง ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นพัฒนาการอีกก้าวของการดูแลผู้ป่วยหัวใจวายที่เราตามหาอยู่

            คำถามคือ – ทำไมโปรไบโอติกฟื้นฟูหัวใจได้

            คำตอบอยู่ในวารสาร American Heart Association Circulation โดยนักวิจัยทดลองให้หนูกลุ่มหนึ่งกินยาปฏิชีวนะ และให้อีกกลุ่มกินโปรไบโอติกเป็นเวลา 1 สัปดาห์ก่อนอาการหัวใจวายกำเริบ ปรากฏว่าหนูที่กินโปรไบโอติกมีอาการดีขึ้น ร่างกายซ่อมแซมตัวเองจากความเสียหายหลังหัวใจวายได้ รวมถึงจุลินทรีย์ดีในลำไส้ยังช่วยสร้างเนื้อเยื่อใหม่ด้วย

            อีกหนึ่งสาเหตุของการเจ็บป่วยที่หัวใจแต่หลายคนมองข้ามไปคือ อุจจาระหมักหมมที่ทำให้สารพิษตกค้างในลำไส้จนเกิดการอักเสบ และการอักเสบนี่เองที่ทำให้หัวใจล้มเหลวตามมา โปรไบโอติกจะช่วยขับอุจจาระที่ตกค้างออกจากลำไส้ จึงช่วยลดความเสี่ยงหัวใจวายได้

            กินโปรไบโอติกเป็นประจำคือการป้องกัน

            แต่หากเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นแล้วที่เดนมาร์กก็มีแอปพลิเคชันชื่อ Heartrunner คือแอปพลิเคชันที่รวมอาสาสมัคร CPR เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีอาการหัวใจวาย ซึ่งเป็นประเทศแรกที่เริ่มใช้อย่างจริงจัง ความสำเร็จของแอปพลิเคชันนี้คืออัตราการรอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

            ถ้าวันนั้นพ่อไม่หัวใจวายหรือรถพยาบาลมาทันเวลา

            ชีวิตของฮันกือรูคงดำเนินไปด้วยวิถีที่เจ้าตัวคุ้นชิน ยังคงได้กินไข่ดาวที่พ่อทอดให้ ส่วนพ่อคงมีช่วงเวลาอยู่กับลูกชายคนสำคัญและได้ทำงานที่ตัวเองรักต่อไป

            พูดไปแล้วอาจฟังดูคลิเช่คร่ำครึ แต่เราก็ยังอยากเป็นเสียงเล็กๆ ที่คอยย้ำเตือนให้ทุกคนไม่ลืมรักษาสุขภาพ อาจแบ่งเวลาสำหรับออกกำลังกายวันละ 10 นาที เลือกอาหารมีประโยชน์วันละมื้อเพื่อให้หัวใจได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่

 

อ้างอิง

https://www.heart.org/en/news/2018/10/08/gut-bacteria-may-play-role-in-heart-attack-recovery

http://www.thaiheart.org/images/column_1291454908/Thai_HF_Guideline_2014.pdf

https://heartrunner.com/about-the-system/

https://www.cbc.ca/news/canada/kitchener-waterloo/gut-health-heart-attack-u-of-g-study-1.5785517

https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/115138/